วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความหมายของการพัฒนาชุมชน


ความหมายของการพัฒนาชุมชน

            สุวิทย์ ยิ่งวรพันธ์ (2509) ได้ให้ความหมายว่า การพัฒนาชุมชน คือ กระบวนการที่มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยประชาชนเข้าร่วมมือและริเริ่มดำเนินงานเอง และสรุปความหมายของการ “พัฒนาชุมชน” ไว้ดังนี้ คือ
  1. การปรับปรุงส่งเสริมให้ชุมชนหนึ่งดีขึ้นหรือมีวิวัฒนาการดีขึ้น
  2. การส่งเสริมให้ชุมชนนั้น ๆ มีวิวัฒนาการดีขึ้น คือ เจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
  3. การพัฒนาชุมชนนั้น จะต้องพัฒนาทางด้านวัตถุและพัฒนาด้านจิตใจ
3.1  การพัฒนาด้านวัตถุ คือ การสร้างความเจริญให้แก่ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดมีหรือเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เห็นโดยแจ้งชัด เช่น การส่งเสริมด้านการผลิตผล การส่งเสริมระบบขนส่ง การคมนาคม การชลประทาน และด้านอื่น ๆ
3.2  การพัฒนาด้านจิตใจ คือ การสร้างความเจริญ โดยมุ่งจะให้การศึกษาอบรมประชาชน ซึ่งรวมทั้งการให้การศึกษาตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย ตามโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและการศึกษานอกระบบโรงเรียน
  1. การพัฒนาชุมชน คือ กระบวนการที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยประชาชนเข้าร่วมมือและริเริ่มดำเนินงานเอง
Arthur Dunham กล่าวว่า การพัฒนาชุมชน คือ การรวมกำลังดำเนินการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนให้มีความเป็นปึกแผ่นและดำเนินงานไปในแนวทางที่ตนเองต้องการ โดยอาศัยความรวมกำลังของประชาชนในชุมชนนั้นในการช่วยเหลือตนเองและร่วมมือกันดำเนินงาน และต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านวิชาการจากหน่วยงานภายนอก
องค์การสหประชาชาติ (2505) ให้คำจำกัดความว่า การพัฒนาชุมชน เป็นขบวนการซึ่งประชาชนทั้งหลายได้พยายามรวบรวมกันทำเองและมาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อที่จะทำให้สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ เจริญดีขึ้นและผสมผสานชุมชนเหล่านั้นเข้าเป็นชีวิตของชาติและเพื่อที่จะทำให้ประชาชนอุทิศกาย ใจ ความคิด ความรู้ และทรัพย์ เพื่อความเจริญเติบโตของชาติอย่างเต็มที่
องค์การบริหารวิเทศกิจของสหรัฐอเมริกา (2505) ให้คำจำกัดความว่า การพัฒนาชุมชน เป็นขบวนการแห่งการกระทำทางสังคม ซึ่งประชาชนในชุมชนนั้นร่วมกันจัดการวางแผนและลงมือกระทำการเอง พิจารณาให้รู้ชัดว่า กลุ่มหรือเอกชนมีความต้องการหรือขาดแคลนอะไร มีปัญหาอะไรซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน แล้วจึงจัดทำแผนเพื่อขจัดความขาดแคลนหรือบำบัดความต้องการ หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยที่พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนนั้น ๆ ให้มากที่สุดและถ้าจำเป็น อาจจะขอความช่วยเหลือจากภายนอก คือ รัฐ หรือองค์กรอื่น เพียงเท่าที่จำเป็น
สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2515) ให้คำจำกัดความว่า การพัฒนาชุมชน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีการกำหนดทิศทาง (Directed Change) ซึ่งทิศทางที่กำหนดขึ้น ย่อมต้องเป็นผลดีสำหรับกลุ่มชนหรือชุมชน การพัฒนาจึงอาจเรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา (Desired Change) หรือการเปลี่ยนแปลงที่ถูกพอกพูนด้วยค่านิยม (Value Loaded Change) ตามระบบค่านิยมของชุมชนซึ่งเป็นเครื่องกำหนดความมีคุณค่าหรือไร้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ
ไพฑูรย์ เครือแก้ว (2518) ให้ทัศนะว่า การพัฒนาชุมชน เป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่จะทำให้ชีวิตทุกด้านของชาวชนบทมีการเจริญก้าวหน้าขึ้นพร้อม ๆ กัน
สาย หุตเจริญ (2512) ให้ความหมายว่า การพัฒนาชุมชน เป็นวิธีการสร้างชุมชนให้เจริญโดยอาศัยกำลังความสามารถของประชาชนและความช่วยเหลือของรับบาลร่วมกัน
พัฒน์ บุณยรัตพันธ์ (2515) ให้ทัศนะว่า การพัฒนาชุมชน เป็นขบวนการอย่างหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือน ยั่วยุ และส่งเสริมประชาชนในชนบท ให้เกิดความคิดริเริ่มขึ้นและเสริมสร้างท้องถิ่นให้ก้าวหน้า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดูแลตนเองตามระบอบประชาธิปไตย
ปรีชา กลิ่นรัตน์ กล่าวว่า การพัฒนาชุมชน เป็นกระบวนการที่มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยความร่วมมืออย่างจริงจังของประชาชน และควรเป็นความคิดริเริ่มของประชาชนเองด้วย แต่ถ้าประชาชนไม่รู้จักริเริ่ม ก็ให้ใช้เทคนิคกระตุ้นเตือนให้เกิดความคิดริเริ่ม ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการนี้ได้รับการตอบสนองจากประชาชนด้วยการกระตือรือร้นอย่างจริงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น