วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ตาดกับการก้าวเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นคง


กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ตาดกับการก้าวเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นคง
   Thursday, 10 January 2008


“พวกเราเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ได้รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อช่วยกันค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับตัวเอง โดยการช่วยกันทำงานอย่างจริงจังและเป็นทีม  ใช้หลักการ “พี่รู้สอง น้องรู้หนึ่ง” คือใครรู้เรื่องอะไร ก็ให้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้เพื่อนสมาชิกได้รับรู้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่การเลี้ยงสัตว์เท่านั้น หากแต่รวมถึงเรื่องราวอื่นๆ ด้วย ที่มีสาระและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน”


นายก้อนแก้ว  แก้วอุด หรือ “น้าแก้ว” ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ตาด หมู่ที่ 1 ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง  จ.เชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟัง
น้าแก้ว ได้เล่าให้ฟังว่า บ้านแม่ตาดเป็นหมู่บ้านขนาดกลาง  มีทั้งหมด 153 ครัวเรือน ชาวบ้านประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งเกษตรกรรม ธุรกิจภายในครอบครัว และรับจ้างทั่วไป โดยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย จนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการไปกู้ยืมเงินผู้อื่นมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จากสาเหตุข้างต้น ทำให้ชาวบ้านแม่ตาดรวมตัวกันจัดประชุมประชาคมเพื่อจัดตั้ง “กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ตาด” ขึ้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน  2550 โดยมีสมาชิกในเบื้องต้น จำนวน 66  ครัวเรือน  เพื่อร่วมกันดำเนินงาน “โครงการเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน  ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สำหรับพัฒนาอาชีพเสริมเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน จากนั้นได้ส่งโครงการเสนอของบสนับสนุนจากโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง(พพพ.) ของรัฐบาล แต่ไม่ผ่านการพิจารณา  จึงทำให้โครงการฯ ดังกล่าวต้องยกเลิกไปโดยปริยาย




อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางผู้ประสานงานได้ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว จึงได้เตรียมแผนสำรองเอาไว้ โดยนำเสนอโครงการไปยังหน่วยงานและองค์กรต่างๆ  ซึ่งมีหลายหน่วยงานติดต่อกลับมา แต่ส่วนใหญ่จะแจ้งให้ทราบว่าไม่มีงบสนับสนุน มีเพียงมูลนิธิชุมชนไทเพียงองค์กรเดียวที่มองเห็นความสำคัญและส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เพื่อจะนำเอาข้อมูลไปนำเสนอให้คณะกรรมการมูลนิธิชุมชนไทพิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการของกลุ่มฯ
ในขณะที่รอฟังผลจากมูลนิธิชุมชนไทอยู่นั้น ทางแกนนำกลุ่มฯ ได้มีรับสมัครสมาชิกขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้มาสมัครเป็นสมาชิก จำนวน 46 คน และได้มีการจัดประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกลุ่มฯ มีการระดมหุ้นกันคนละ 20 บาท และค่าสมัครเป็นสมาชิกอีกคนละ10 บาท เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นสำหรับการดำเนินโครงการ
นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยอบรมให้ความรู้และสาธิตการทำไบโอแก๊สให้กับชาวบ้านแม่ตาดด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านอย่างดี




ต่อมาทางมูลนิธิชุมชนไทได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการฯ ของกลุ่มฯ จำนวน 70,000 บาท โดยทางคณะกรรมการกลุ่มฯ ได้ทำการเปิดบัญชีธนาคารไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาสันกำแพง รวมทั้งมีการตั้งระเบียบกลุ่ม และระเบียบการกู้ยืมเงินของกลุ่มฯ ขึ้นมา เพื่อให้การบริหารจัดการมีความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม  2550  ทางกลุ่มฯ ได้ให้สมาชิกกลุ่มฯ กู้ยืมเงินไปใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ตามโครงการฯ เป็นครั้งแรก  จำนวน  30  รายๆ ละ  2,000  บาท  รวมทั้งหมด  60,000  บาท  และนำเงินที่เหลืออีก 10,000 บาท มาใช้สำหรับการบริหารจัดการกลุ่มฯ โดยสมาชิกกลุ่มฯ ได้นำเงินเหล่านั้นไปซื้อพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ และนำไปเลี้ยงตามบริเวณพื้นที่ของตนเอง ซึ่งสัตว์ที่ทางสมาชิกกุล่มฯ เลี้ยง มีทั้ง  กบ  ไก่บ้าน  ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม หมู  จิ้งหรีด และวัว  และขณะนี้ผลผลิตบางส่วนก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว 





“ทางกลุ่มฯ จะเน้นย้ำให้ผู้เลี้ยงบริโภคเองในครัวเรือนเป็นหลัก แล้วนำส่วนที่เหลือไปจำหน่ายให้กับชาวชุมชน เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหลออกไปนอกชุมชน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่นคนที่มีไก่ ก็เอาไก่ไปแลกกับปลาหรือกบของสมาชิกอื่นๆ   แทนการซื้อขาย โดยเทียบราคาให้เท่าๆ กัน   ซึ่งก็ทำให้ไม่ต้องควักสตังค์เลยสักบาท แต่สามารถบริโภคอาหารตามที่ตนต้องการได้  เป็นอะไรที่ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก  แต่มีความสุขมาก”   น้าแก้วเล่าให้ฟังอย่างมีความสุข
ผลจากการดำเนินโครงการฯ ก่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพเสริมโดยการเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ชาวบ้านมีอาหารบริโภคในครัวเรือนและชุมชนอย่างเพียงพอ เกิดกองทุนหมุนเวียนสำหรับนำไปประกอบอาชีพขึ้นในชุมชน สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดหนี้สินลงได้อย่างเป็นรูปธรรม  สมาชิกรู้จักการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และลดการพึ่งพาจากภายนอก เกิดความรักสามัคคีในหมู่บ้าน ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความรัก เอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา และทำให้หมู่บ้านมีความน่าอยู่อย่างยั่งยืนบนฐานของความพอเพียง  




“ในช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มฯ ได้เข้าไปช่วยงานของหมู่บ้านหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยจัดทำแผนแม่บทชุมชนจนสำเร็จเรียบร้อย ทำให้หมู่บ้านมีแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีทิศทางชัดเจน สำหรับสิ่งที่ทางกลุ่มจะช่วยกันทำในช่วงต่อไป ก็คือเรื่องของการออมทรัพย์และการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชน โดยจะนำเอาดอกผลของออมทรัพย์และเงินกองทุนเลี้ยงสัตว์มาเป็นจัดเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกเป็นอันดับแรก ทั้งด้านการเจ็บไขได้ป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษาของบุตรหลาน เด็กด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ จากนั้นค่อยขยายไปสู่ทั้งชุมชน  ซึ่งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบและวิธีการ เพื่อให้การดำเนินการมีความมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาวะในชุมชน โดยจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนอะไร  เรียกว่าเดินไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง”     น้าแก้วเล่าบอกส่งท้าย

*อักขณิช  ศรีดารัตน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น